น้ำท่วมหนัก คปภ.แนะแนะซื้อและตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองน้ำท่วม

. วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555

สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)เปิดเผยว่า ณ วันที่ 21 กันยายน 2555 ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีพื้นที่ประสบอุทกภัย รวมทั้งสิ้น 16 จังหวัด 40 อำเภอ มีประชาชนได้รับความเดือดร้อน 64,016 ครัวเรือน 163,798 คน แนะให้ผู้ให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยว่ามีความคุ้มครองภัยธรรมชาติน้ำท่วมหรือไม่ 

คปภ. แนะให้ผู้ประสบภัยตรวจสอบกรมธรรม์ของตัวเอง ถ้ามีความคุ้มครองภัยน้ำท่วมให้รีบแจ้งความเสียหายแก่บริษัทประกันภัยทันที เพื่อประโยชน์ในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อไป  และหากเอกสารการทำประกันภัยเสียหายหรือสูญหายขณะน้ำท่วม ขอให้ประสานสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จังหวัดเพื่อดำเนินการค้นหาข้อมูลจากฐานข้อมูลกลางของสำนักงาน คปภ ต่อไป 

โดยกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองภัยน้ำท่วม ได้แก่ กรมธรรม์ประกันชีวิต กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล กรมธรรม์ประกันสุขภาพ  กรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย (เฉพาะที่ขยายภัยน้ำท่วม) และกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจประเภท 1 สำหรับการประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจประเภท 2 หรือ ประเภท 3 

หากได้ซื้อความคุ้มครองภัยน้ำท่วมเพิ่มเติมไว้ก็จะได้รับความคุ้มครองด้วยเช่นกัน ซึ่งขณะนี้ได้สั่งการให้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ภาค/จังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วมให้ความช่วยเหลือด้านการประกันภัยแก่ผู้ประสบอุทกภัย พร้อมติดตามให้บริษัทประกันภัยเร่งประเมินความเสียหาย และชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทันทีหลังน้ำลด

เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ภัยธรรมชาติเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อเกิดขึ้นแล้วก่อให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง ซึ่งสามารถบรรเทาได้ด้วยการซื้อประกันภัย สำนักงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) มีความห่วงใยประชาชนเป็นอย่างยิ่ง แนะให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย ผู้ประกอบการ รวมถึงภาค อุตสาหกรรม ซื้อกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองภัยธรรมชาติน้ำท่วม 

ในกรณีที่ภัยธรรมชาติน้ำท่วมทวีความรุนแรงจนถึงขั้นเป็นภัยพิบัติตามเงื่อนไขที่กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติกำหนด การทำประกันภัยพิบัติก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการบริหารจัดการความเสี่ยง ควบคู่ไปกับการทำประกันภัยธรรมชาติน้ำท่วมเพื่อให้มีความคุ้มครองครบถ้วนโดยเสียเบี้ยประกันภัยไม่มาก อย่างไรก็ตาม ก่อนตัดสินใจซื้อกรมธรรม์ประกันภัย ประชาชนและผู้ประกอบการควรศึกษาเงื่อนไขความคุ้มครอง และรายละเอียดของข้อยกเว้นให้เข้าใจเสียก่อน เพื่อให้ได้ความคุ้มครองที่ตรงกับความต้องการมากที่สุด หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนประกันภัย 1186

ที่มา กระแสหุ้นออนไลน์